• : 061-8794565, 025741619

    รู้เรื่องโรคออฟฟิศซินโดรม กับ BKKNA

    By : admin | Date : 2014-12-28 14:26 | View : 4529


    รู้เรื่องโรคออฟฟิศซินโดรม กับ BKKNA
    เพราะพฤติกรรมในการทำงาน รวมไปถึงสภาพแวดล้อมในที่ทำงานและสภาพร่างกาย อาจทำให้เราละเลยสัญญาณเตือนของอาการออฟฟิศซินโดรม จากอิริยาบถในเวลาทำงาน การนั่งหลังค่อม นั่งทำงานหน้าจอคอมนานๆ แม้กระทั่งความเครียด ปัญหาเหล่านี้เราสามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับพฤติกรรมในที่ทำงาน

    ออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) คืออะไร?

       ออฟฟิศซินโดรม หรือกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial pain syndrome) คือ อาการปวดกล้ามเนื้ออันเนื่องมาจากรูปแบบการทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานต่อเนื่อง เช่น การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานเกินไป โดยไม่ขยับ ผ่อนคลายหรือปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ซึ่งอาจลุกลามจนกลายเป็นอาการปวดเรื้อรัง รวมไปถึงอาการชาที่บริเวณแขนหรือมือ จากการที่เส้นประสาทส่วนปลายถูกกดทับอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และการดูแลสุขภาพของตนเองตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดออฟฟิศซินโดรมได้

    อาการของออฟฟิศซินโดรม

    1. ปวดกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น คอ บ่า ไหล่ สะบัก มักมีอาการปวดเป็นบริเวณกว้าง ไม่สามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจน อาจมีอาการปวดร้าวไปบริเวณใกล้เคียงร่วมด้วยมีลักษณะอาการปวดล้าๆ ความรุนแรงมีได้ตั้งแต่ปวดเล็กน้อยเพียงรำคาญจนถึงปวดรุนแรงทรมานอย่างมาก

    2. อาการของระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งพบร่วมได้ เช่น ซ่า วูบ เย็น เหน็บ ซีด ขนลุก เหงื่อออก ตามบริเวณที่ปวดร้าว ถ้าเป็นบริเวณคออาจมีอาการมึนงง หูอื้อ ตาพร่า

    3. อาการทางระบบประสาทที่ถูกกดทับ เช่น อาการชาบริเวณแขนและมือ รวมถึงอาการอ่อนแรง หากมีการกดทับเส้นประสาทนานจนเกินไป

    การรักษาอาการออฟฟิศซินโดรม

    ควรได้รับการรักษาโดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูที่มีความเชี่ยวชาญด้านอาการปวดกล้ามเนื้อหลังจากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยแล้วแพทย์จะพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมของแต่ละบุคคล เช่น

    1. การยืดกล้ามเนื้อที่ถูกวิธีด้วยตัวเอง

    2. การรักษาด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด ด้วยอุปกรณ์ที่เพรียบพร้อมและทันสมัย

    3. การนวดแผนไทย 

    4. การฝังเข็ม 

    5. การรับประทานยา

    การป้องกันการเกิดออฟฟิศซินโดรม

    1. ออกกำลังกายด้วยท่าที่เหมาะสมกับอาการ เช่น การยืดกล้ามเนื้อให้เกิดความยืดหยุ่น การออกกำลังเพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยต้องอาศัยความใส่ใจและความสม่ำเสมอ

    2. ปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น ปรับระดับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ ให้สามารถนั่งทำงานในท่าที่สบาย ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา

    3. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานกล้ามเนื้อให้เหมาะสม เช่น ในระหว่างทำงานควรมีการยืดเหยียดหรือเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้ออย่างน้อยทุกๆ 1 ชั่วโมง

     


    Comment